ประวัติโรงพยาบาล



เริ่มแรกตำบลสารภีไม่มีโรงพยาบาล มีเพียงอาคารสถานีอนามัยชั้น 2 จากนั้นกรรมการวัดปากกอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันประชุม ตกลงหารือกันใช้พื้นที่ของวัดร้างซึ่งเป็นที่ดินของกรมศาสนาสร้างสถานีอนามัยชั้น 1 โดยเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2508 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2510 และขึ้นตรงกับอนามัยอำเภอสารภี ต่อมาในปีเดียวกันได้สร้างสถานีอนามัยชั้น 1 ตามแบบแปลนของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มอีก 1 หลัง ในพื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน กระทรวงสาธารณสุขได้เช่าที่ดินวัดร้างซึ่งเป็นของกรมศาสนา ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลสารภี อยู่ห่างจากตัวอำเภอ 4 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 14 กิโลเมตรและห่างจากตัวเมืองลำพูน 11 กิโลเมตร สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2511 เปิดให้บริการวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2511 โดยมีนายแพทย์สมบูรณ์ ผ่องอักษร เป็นประธานเปิดโรงพยาบาล


พ.ศ. 2518  ได้รับการยกฐานะเป็นศูนย์แพทย์และอนามัย

     

พ.ศ. 2519  ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง

พ.ศ. 2520  จากดำริของท่านพระครูศิริธรรมโฆษิต เจ้าอาวาสวัดปากกอง (ในขณะนั้น) พร้อมด้วยประชาชนในอำเภอสารภีและตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน ได้จัดผ้าป่าสามัคคี สร้างตึกผู้ป่วยนอน ซื่ออาคารราษฎร์สามัคคีเพิ่ม 1 หลัง และขยายเป็นห้องตรวจโรค ห้องเก็บเวชภัณฑ์และห้องคลอด

พ.ศ. 2530  ได้รับบริจาคจากบริษัทโรงงานยาสูบไซแอมโทแบคโค เป็นจำนวน 1 ล้านบาท สร้างเป็นอาคารผู้ป่วยห้องพิเศษจำนวน 6 ห้อง สามารถรับผู้ป่วยนอนได้ 10 เตียง และห้องทันตกรรม 1 ห้อง

พ.ศ. 2536  กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 15,750,000 บาท ขยายเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง แต่ไม่มีที่ดินเพียงพอ คณะกรรมการที่ปรึกษาโรงพยาบาลจึงประชุมหารือจัดผ้าป่าสามัคคีเพื่อหาเงินสมทบ จนขยายเป็นโรงพยาบาล 30 เตียงได้ ส่วนบ้านพักแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้สร้างในที่ดินเช่าและซื้อเพิ่มรวม 4 ไร่ ที่บ้านช่างเคิ่ง ตำบลสารภี

พ.ศ. 2547  ได้รับการยกฐานะให้ขยายเป็นโรงพยาบาล 60 เตียงแบบพึ่งพาตนเอง

     

พ.ศ. 2552  เนื่องจากโรงพยาบาลมีปัญหาสถานที่คับแคบโดยเฉพาะในส่วนที่จอดรถของผู้มารับบริการและผู้มาติดต่อราชการ จึงจัดตั้งกองทุนจัดซื้อที่ดินเพื่อขยายพื้นที่ให้ บริการของโรงพยาบาล

     

     
พ.ศ. 2553  ได้เปิดบริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านโดยได้รับความอนุเคราะห์ด้านสถานที่ให้บริการจากวัดต้นเหียว และได้รับบริจาคที่ดินจาก คุณแม่แก้วเรือน จิวหานัง จำนวน 8 ไร่ 1 งาน 61 ตารางวา ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลขัวมุง พร้อมทั้งบุตรสาวคือคุณจันทร์ฉาย ใจสันต์ ได้บริจาคอาคาร 1 หลังสำหรับให้บริการในที่ดินพื้นนี้ และโรงพยาบาลสารภีใช้เงินบำรุงสร้างขึ้นอีก 1 หลัง เปิดให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านซึ่งเป็นสาขาของโรงพยาบาลสารภี

พ.ศ. 2556  พิธิเปิดอย่างเป็นทางการศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านซึ่งเป็นสาขาของโรงพยาบาลสารภี

     
พ.ศ. 2558  พิธีเปิด รพ.สารภีบวรพัฒนา วันที่ 31 มีนาคม 2558 ที่จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่างบ้าน(ชุมชน) วัด และโรงพยาบาลสารภี สร้างขึ้นใหม่และเปิดให้บริการ ในวันที่ 1 เมษายน 2558 เพื่อเป็นสถานที่พักฟื้นของผู้ป่วยระหว่างหลังออกจากโรงพยาบาลกับเตรียมพร้อมก่อนกลับบ้าน รวมทั้งเป็นสถานพยาบาลที่มีเป้าหมายในการพัฒนา เพื่อเป็นแหล่งฝึกด้านการฟื้นฟูสภาพร่างกายสำหรับผู้ป่วยและญาติ ถือได้ว่าเป็นโรงพยาบาลที่ให้การดูแลระยะกลาง (Intermediate Care) แห่งแรกของภาคเหนือ

     

     

พ.ศ. 2566  สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติปรับระดับศักยภาพของโรงพยาบาลสารภีจาก F2 เป็น F1 เพื่อพัฒนาระบบบริการ มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้น