รายละเอียดข่าวสารสุขภาพ


  ข่าวสารสุขภาพ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559
  โดย : ภาคภูมิ ปันสีทอง (แผนงานและสารสนเทศ)



ป้องกันโรคฟันในเด็ก






บทความโดย : ทพญ.นราวัลลภ์ เชี่ยววิทย์ งานทันตกรรม รพ.ศิริราช

การป้องกันไม่ให้เด็กได้รับเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดฟันผุ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน เนื่องจากเชื้อโรคที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ มักจะมาจากผู้เลี้ยงดูใกล้ชิดกับเด็ก ดังนั้นจึงควรแยกช้อนและแก้วน้ำของเด็กเป็นส่วนตัว ไม่ควรชิมอาหารโดยใช้ช้อนที่ป้อนเด็ก หรือเคี้ยวอาหารให้เด็ก หากระมัดระวังในเรื่องเหล่านี้ และสร้างเป็นนิสัยให้เด็กตั้งแต่ยังเล็ก ก็จะส่งผลดีกับการป้องกันการติดเชื้อโรคชนิดอื่น ๆ อีกมากมายด้วย

ผู้ปกครองควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นซึ่งการมาพบทันตแพทย์ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ และไม่มีอาการ มักจะไม่ค่อยมีปัญหาในการทำฟัน เพราะจะเป็นงานในเชิงป้องกันฟันผุมากกว่า เช่น การขัดฟัน เคลือบฟลูออไรด์ เคลือบหลุมร่องฟัน ซึ่งจะทำให้เด็กได้ทำความรู้จัก คุ้นเคย และยอมรับการทำฟันได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการทำฟัน และการดูแลสุขภาพช่องปากในอนาคต การพาเด็กไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ

เพื่อให้ทันตแพทย์ทำการตรวจฟันอย่างละเอียด ร่วมกับการถ่ายภาพรังสีเพื่อตรวจหาฟันผุเพื่อเฝ้าระวังรอยผุที่อาจเกิดขึ้นบริเวณซอกฟันเมื่อตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ และรีบรักษาก็เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟัน นอกจากนั้นทันตแพทย์จะแนะนำเกี่ยวกับการดูแลรักษาฟันการทำความสะอาดฟันในแต่ละวัยประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุปริมาณฟลูออไรด์ที่ควรได้รับและควรพบทันตแพทย์เป็นระยะทุก3‐6 เดือนขึ้นอยู่กับ

ความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ

การดูแลรักษาฟันน้ำนมเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากฟันน้ำนมช่วยในการบดเคี้ยวอาหารและรักษาช่องว่างไว้สำหรับฟันแท้ นอกจากนี้ ยังช่วยในการออกเสียงและให้ความสวยงามฟันน้ำนมนั้นจะค่อย ๆ ทยอยหลุดออก และมีฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ตั้งแต่เด็กมีอายุ 6 ปี จนกระทั่งอายุ 12‐13 ปี ฟันแท้ก็จะขึ้นครบหากมีปัญหาเกิดขึ้นกับฟันน้ำนม เช่น มีฟันผุทะลุโพรงประสาทฟันแล้วปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่รักษาเด็กก็จะปวดฟันเป็นหนองบริเวณปลายรากฟัน และอาจลุกลามกลายเป็นการติดเชื้อบริเวณอวัยวะข้างเคียง รวมทั้งอาจมีผลทำให้การสร้างของหน่อฟันแท้ที่อยู่ข้างใต้ผิดปกติไปนอกจากนั้น

หากเราปล่อยให้ฟันผุลุกลามจนไม่สามารถรักษาได้จำเป็นต้องถอนฟันออกก่อนเวลาอันควร ก็จะทำให้ที่ว่างสำหรับฟันแท้ที่จะขึ้นนั้นเล็กลง ทำให้เกิดการซ้อนเกของฟันแท้ได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลรักษาฟันน้ำนมของลูกให้ดีและพาเด็กไปพบทันตแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อให้ฟันน้ำนมแต่ละซี่หลุดไปตามอายุที่สมควร และเมื่อมีฟันแท้แต่ละซี่ขึ้นมาใหม่ก็ควรจะได้รับการป้องกันโดยการเคลือบฟลูออไรด์ เพื่อเสริมความแข็งแรงของผิวเคลือบฟัน รวมถึงได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุบริเวณด้านบดเคี้ยวที่มีหลุมร่องฟันลึกที่มีโอกาสเกิดฟันผุได้ง่าย การดูแลฟันน้ำนมให้ดีก็จะส่งผลถึงฟันแทัที่ดีต่อไปในอนาคต

วิธีการแปรงฟันในเด็ก

ก่อนการแปรงฟัน ควรเลือกแปรงสีฟันให้เหมาะกับปากเด็ก ท่าที่เหมาะสมสำหรับการแปรงฟันในเด็กเล็ก คือ ผู้ใหญ่อยู่ด้านหลังเด็ก โดยอาจให้เด็กนอนให้ศีรษะเด็กหนุนตักผู้ใหญ่ หรือในเด็กที่ร่วมมือในการแปรงฟันอาจให้เด็กยืนพิงผู้ใหญ่ เด็กเงยหน้าขึ้นเล็กน้อย และใบหน้าของเด็กหันไปทางเดียวกับผู้ใหญ่ ใช้นิ้วมือด้านที่ไม่ได้จับแปรงช่วยแหวกกระพุ้งแก้ม ริมฝีปากเบา ๆ เพื่อทำให้เห็นฟันบริเวณที่จะแปรงได้ชัดเจน หรืออาจนอนแปรงฟันบนพื้นเตียงได้ ขยับแปรงไปมาสั้น ๆ ในแนวนอนแบบถูไปมา โดยขนแปรงควรจะคลุมฟันประมาณ 2-3 ซี่ ควรแปรงฟันให้ครบทุกซี่ทุกด้านทั้งด้านนอก ด้านในและด้านบนของฟัน

วิธีการใช้ไหมขัดฟันในเด็ก

ท่าที่เหมาะสมสำหรับการใช้ไหมขัดฟันในเด็กเป็นท่าเดียวกันกับการแปรงฟัน คือผู้ใหญ่อยู่ด้านหลังเด็ก โดยอาจให้เด็กนอนให้ศรีษะเด็กหนุนตักผู้ใหญ่ หรืออาจให้เด็กยืนพิงผู้ใหญ่ เด็กเงยหน้าขึ้นเล็กน้อย และใบหน้าของเด็กหันไปทางเดียวกับผู้ใหญ่ ดึงไหมขัดฟันให้มีความยาวประมาณ 1 ฟุต ให้พันไหมขัดฟันเข้าที่นิ้วกลางเพื่อให้สามารถใช้นิ้วชี้ และนิ้วโป้งจับไหมขัดฟันให้แน่นและตึง จากนั้นสอดไหมเข้าไประหว่างซอกฟันจนถึงจุดลึกสุดของร่องเหงือก โอบไหมรอบซี่ฟันและถูไหมขัดฟันไปมาสั้น ๆ เพื่อทำความสะอาด แล้วถูออกมาทางปลายฟัน ซึ่งควรจะต้องทำทุกซอกฟันที่ฟันเรียงตัวชิดกัน

 

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์




ข่าวสารสุขภาพ อื่นๆ


วิ่งอย่างไร ให้ตัวเองปลอดภัย และมีสุขภาพดี

16 ตุลาคม 2561
60

วิ่ง วิ่ง วิ่ง เพื่อสุขภาพ

15 พฤศจิกายน 2559
42

เมื่อประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์

14 พฤศจิกายน 2561
103