รายละเอียดข่าวสารสุขภาพ


  ข่าวสารสุขภาพ วันที่ 31 สิงหาคม 2559
  โดย : ภาคภูมิ ปันสีทอง (แผนงานและสารสนเทศ)



‘มะเร็ง’ เรื่องน่ารู้ที่ควรใส่ใจ






มะเร็งเต้านมมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของผู้หญิงทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเรา เป็นมะเร็งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความเจริญแบบสังคมเมือง ยิ่งหญิงไทยบ้านเราใช้ชีวิตตามอย่างอารยธรรมตะวันตกมากขึ้นเท่าไร สถิติของโรคนี้ก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เป็นเช่นนี้เหมือนกันในหลายประเทศทั่วโลก

จากสถิติในปี 2554 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มีผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด 57,806 คน ในจำนวนนี้เป็นมะเร็งเต้านมมากเป็นอันดับหนึ่งคือ 12,616 คน ทิ้งห่างอันดับสองคือมะเร็งปากมดลูกที่พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 6,426 คนหนึ่งเท่าตัว พูดง่ายๆ ให้เห็นภาพก็คือทุกๆ วันจะมีหญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่วันละ 34 คน ในขณะที่แต่ละปีมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมปีละ 3,475 รายหรือเสียชีวิตวันละเกือบ 10 ราย นับเป็นโรคที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับผู้หญิงในยุคนี้ แต่ก็อย่าพึ่งตื่นกลัวจนเกินกว่าเหตุ เพราะมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ป้องกันได้ หากหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และสามารถตรวจคัดกรองได้ง่ายกว่ามะเร็งของอวัยวะอื่น เพราะเต้านมเป็นอวัยวะที่อยู่ภายนอก

สำหรับคุณผู้หญิงกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าเค้า มี 9 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มแรกคือพวกที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ รวมถึงมะเร็งอวัยวะอื่นคือ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับรหัสพันธุกรรมในกลุ่มเดียวกัน กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้อาวุโสที่อายุมากกว่า 60 ปี มีอัตราการเป็นมะเร็งเต้านม 95 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน สูงกว่าอุบัติการณ์รวมทุกวัยของมะเร็งเต้านมซึ่งอยู่ที่ 28.5 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน กลุ่มที่ 3 คือคุณผู้หญิงยุคใหม่ที่ไม่เคยตั้งครรภ์เลยหรือมีบุตรแต่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง ต่อด้วยกลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ร่างกายมีโอกาสได้รับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนมากกว่าปกติ คือเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย หมดประจำเดือนตอนอายุมาก หรือได้รับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนเสริมไม่ว่าจะจากการทดแทนหรือการคุมกำเนิด ตามด้วยกลุ่มที่ 5 คนที่มีภาวะหัวนมบอดหรือมีผื่นแผลที่ลานหัวนมเป็นๆ หายๆ กลุ่มที่ 6 พวกที่มีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน เนื่องจากเนื้อเยื่อไขมันพวกนี้สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนไปกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน กลุ่มที่ 7 พวกนิยมบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง ชอบกินอาหารขยะ อาหารฟาสต์ฟู้ด กลุ่มที่ 8 พวกชอบสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และกลุ่มสุดท้ายคือ พวกที่ไม่สนใจตัวเอง ขี้เกียจตรวจเต้านมด้วยตนเองหรือตรวจผิดวิธี พวกนี้ก็มีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน

ใครที่มีความเสี่ยงไม่ว่าจะอยู่ไหนกลุ่มไหนก็ตาม รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธีเป็นประจำ ดีกว่ารอให้เป็นมากแล้วค่อยไปพบแพทย์นะครับ.

 

ที่มา : www.komchadluek.net




ข่าวสารสุขภาพ อื่นๆ


นอนหลับเพียงพอ ดีต่อสุขภาพ

29 มีนาคม 2560
46

สัญญาณจากผิว บอกโรคอันตราย

24 มกราคม 2560
8

คนอ้วนกับการออกกำลังกาย

27 เมษายน 2560
24