โดย : ภาคภูมิ ปันสีทอง (แผนงานและสารสนเทศ)
สัญญาณจากผิว บอกโรคอันตราย
ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจฉันใด ผิวพรรณก็เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความแข็งแรงสมบูรณ์ของสุขภาพกายฉันนั้น เราทุกคนคงส่องกระจกสำรวจรูปลักษณ์ภายนอกกันทุกวัน และบางท่านสำรวจกันวันละหลายๆ ครั้ง
เชื่อหรือไม่ว่า เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เพื่อการสังเกตผิวหนังของเราได้อย่างถี่ถ้วน นอกจากจะช่วยให้เราดูดีแล้ว ยังช่วยให้ระแวดระวังโรคภัยต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้
ผิวดำคล้ำขึ้นโดยไม่มีเหตุผล
หากสังเกตแล้วพบว่าผิวดำขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้โดนแดดจัด หรือมีกิจกรรมกลางแจ้ง ผิวกลับคล้ำขึ้น พบปื้นดำตามเยื่อบุต่างๆ เช่น ในกระพุ้งแก้ม ร่องเส้นลายมือกลายเป็นสีคล้ำ ริ้วรอยแผลเป็นต่างๆ ดำขึ้นเรื่อยๆ อาการนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานยา เช่น ยาลดความดัน หรือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงโรคหลายชนิด เช่น โรคต่อมหมวกไตที่สร้างฮอร์โมนได้น้อยกว่าปกติ หากไม่แน่ใจควรพบแพทย์
เจอปื้นดำคล้ายคราบไคล
คราบที่ว่านี้มักพบที่ข้อพับแขน รักแร้ ขาหนีบ ต้นคอ ขึ้นใหม่ๆ จะไม่หนามาก หากสังเกตจึงจะเห็นว่า ผิวดำและแลดูนูนๆ หากปล่อยทิ้งไว้ คราบที่ว่าจะหนาขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นปื้นดำขนาดใหญ่ บางครั้งมีติ่งเนื้อยื่นออกมาด้วย สัญญาณนี้มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Acanthosis Nigricans บ่งบอกถึงน้ำหนักตัวที่เริ่มมากเกินไป ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีแนวโน้มของเบาหวาน และ Metabolic Syndrome แนะนำให้ลดน้ำหนัก รับประทานอาหารที่เหมาะสม ลด หวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
หากสังเกตพบว่า ผิวเหลืองขึ้นเรื่อยๆ อาจจะบ่งว่ามีตับอักเสบ หรือ การอุดตันของทางเดินน้ำดีซ่อนอยู่ ภาวะนี้เดิมเรียกว่า ดีซ่าน หากสังเกตว่าผิวเริ่มเหลืองให้ลองมองดูที่ตาขาว หากตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองด้วย รวมทั้งอุจจาระมีสีซีดลง ให้ปรึกษาแพทย์อย่ารอช้า หากตัวเหลือง ฝ่ามือฝ่าเท้าเหลือง แต่ตายังไม่เหลือง ยังไม่ต้องตกใจ เนื่องจากการรับประทานผลไม้สีเหลือง เช่น มะละกอ ฟักทอง จำนวนมากๆ สารแคโรทีนในผักผลไม้เหล่านี้จะทำให้ผิวเหลืองขึ้นได้ หากหยุดกินสีเหลืองก็จะค่อยๆ จางลงและหายไป
ผื่นดวงขาวๆ ที่ผิวหนัง
ถ้าเป็นดวงสีขาว และสีขาวจัดจนเหมือนกระดาษขาว เห็นขอบเขตได้ชัดที่ใบหน้า แขนขา รอบดวงตา ริมฝีปาก หรือลำตัว อาจจะเป็นอาการของโรคด่างขาว ซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดสีถูกทำลาย ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ส่วนหนึ่งมีโรคต่อมไทรอยด์ซ่อนอยู่ จึงควรปรึกษาแพทย์
สิวขึ้นแถมประจำเดือนมาไม่ปกติ
หากสิวขึ้นเยอะมากๆ หน้ามัน น้ำหนักตัวขึ้น เริ่มเห็นหนวด ขนดกยาว และประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เหล่านี้อาจเกิดจากฮอร์โมนผิดปกติ เนื่องจากโรคถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome, PCOS) ได้ ดังนั้นแม้เป็นสิวอย่านิ่งนอนใจ หากสิวเริ่มไม่ชิลอย่างที่คิด แถมด้วยอาการผิดปกติดังข้างต้น อย่าลืมแจ้งให้หมอผิวหนังของท่านทราบ เพื่อจะได้ส่งตรวจต่อได้อย่างทันท่วงที
ผิวแห้งแตกระแหง
เมื่ออายุมากขึ้นอาจเป็นสัญญาณบ่งว่าขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น กรดไขมันจำเป็น หรืออาจจะเป็นโรค เช่น มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง หรือเกิดการติดเชื้อบางอย่างเบื้องต้นให้บำรุงรักษาผิวให้ชุ่มชื้น งดการอาบน้ำอุ่นจัดจนเกือบร้อน หรือใช้สบู่ที่มีฤทธิ์เป็นด่างสูง หมั่นทาครีมบำรุงสม่ำเสมอ สำรวจคลำก้อนที่บริเวณต่างๆ เช่น ที่คอ รักแร้ หรือ ขาหนีบ โดยก้อนที่เป็นมะเร็งนั้น มักไม่เจ็บต่างจากการติดเชื้อทั่วไป หากยังไม่ดีขึ้นหรือคลำได้ก้อน แนะนำให้พบแพทย์
อาการคันผิวหนัง
คันเป็นอาการที่มาคู่กับผิวแห้ง หากผิวแห้งจะคันได้มาก แต่ในบางท่านอาการคันเป็นมาก จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือถึงขั้นนอนไม่หลับเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่ไม่มีผื่นแพ้ ไม่มีลมพิษ หากมีอาการเช่นนี้ อาจเกิดจากการสะสมของสารที่ก่อให้เกิดการคันในร่างกาย ซึ่งพบได้ในโรคไตวายเรื้อรัง โรคตับ ในบางราย มีอาการคันมากหลังอาบน้ำ ซึ่งเป็นอาการแสดงเบื้องต้นของโรคเลือดบางชนิดอีกด้วย
ผมร่วงมาก
โดยปกติผมจะร่วงจากหนังศีรษะเป็นประจำอยู่แล้ว เนื่องจากมีการผลัดเปลี่ยนให้ผมเส้นใหม่ขึ้นมาแทนที่ แต่หากผมร่วงเยอะมากๆ โดยเฉลี่ยเกิน 100 เส้น/วัน หรือแค่ลูบหรือดึงเบาๆ ก็หลุดติดมือออกมา อาจแสดงถึงความผิดปกติ เช่น เกิดจากยาบางอย่าง ภาวะเครียดของร่างกายอย่างรุนแรง โรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคต่อมไทรอยด์
ลองสังเกตอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมไปด้วย เช่น มีผื่นแพ้แสง แผลในปากด้วยหรือไม่ อาจจะเป็นอาการโรคแพ้ภูมิตนเองที่เรียกว่า เอสแอลอี (SLE) มีเหงื่อแตก ใจสั่น น้ำหนักลด หงุดหงิดง่าย ซึ่งอาจเป็นอาการของฮอร์โมนต่อมไทรอยด์มากเกินไป
การดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ และสังเกตการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและร่างกายจะช่วยให้พบความผิดปกติหรือโรคได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ทางผิวหนังอาจช่วยให้ท่านป้องกันโรคร้ายได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
โดย ผศ.พญ.ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาผิวหนังและอายุรกรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย