รายละเอียดข่าวสารสุขภาพ


  ข่าวสารสุขภาพ วันที่ 14 กรกฎาคม 2560
  โดย : ภาคภูมิ ปันสีทอง (แผนงานและสารสนเทศ)



“ทุเรียน”กินพอดี มีประโยชน์






บทความโดย...รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่มีทุเรียนออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับทุเรียนหลายอย่างที่ทั้งผู้ที่ชอบและไม่ชอบรับประทานทุเรียนควรทราบ

ไทยผลิตและส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก ตลาดหลักของไทย คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานว่า ไทยส่งออกในรูปทุเรียนสดประมาณร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งหมด โดยในปี 2555 - 2559 การส่งออกทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์ของไทยเพิ่มขึ้นจาก 365,912 ตัน (คิดเป็นทุเรียนสด 371,946 ตัน) มูลค่า 7,167.28 ล้านบาท ในปี 2555 เป็น 394,795 ตัน (คิดเป็นทุเรียนสด 401,359 ตัน) มูลค่า 18,398.00 ล้านบาท ในปี 2559 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.53 และร้อยละ 28.23 ต่อปี ตามลำดับ (http://bit.ly/2tQpCGZ)

 

คุณค่าทางโภชนาการในทุเรียน

ทุเรียนเป็นหนึ่งในผลไม้ยอดนิยมของชาวเอเชีย และมีประโยชน์ในทุกส่วน ตั้งแต่เปลือกจนถึงเมล็ด

• เนื้อทุเรียน ให้พลังงานสูงมาก (ประมาณ 150 กิโลแคลอรีต่อ 100 กรัมของน้ำหนักสด) เนื่องจากมีสารสำคัญทางโภชนาการดังนี้ (http://bit.ly/2uo6nBv)

       o คาร์โบไฮเดรตสูงถึง 27.1±1.6 กรัม ต่อ 100 กรัมของน้ำหนักสด

       o ไขมัน 5.3±0.4 กรัม ต่อ 100 กรัมของน้ำหนักสด

       o เส้นใยอาหาร 3.2±0.3 กรัม ต่อ 100 กรัมของน้ำหนักสด

       o โปรตีน 1.4±0.1 กรัม ต่อ 100 กรัมของน้ำหนักสด

       o กรดไขมันทั้งที่เป็นแบบกรดไขมันอิ่มตัว และกรดไขมันไม่อิ่มตัว

       o เบต้าแคโรทีนและวิตามินอี

       o โปแตสเซียม

       o สารประกอบกำมะถัน ซึ่งทำให้ทุเรียนมีกลิ่นเฉพาะตัว

             • เมล็ดทุเรียน ประกอบด้วย น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว กรดไขมัน และกรดอมิโนที่จำเป็นสำหรับร่างกาย แต่การบริโภคเมล็ดทุเรียนควรทำให้สุกเสียก่อน (http://bit.ly/2spgGUA)

ประโยชน์ต่อสุขภาพ

             ผลการวิจัยที่ผ่านมาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่า

       • ทุเรียนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (http://bit.ly/2uo6nBv)

       • ทุเรียนมีฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง (http://bit.ly/2uo6nBv)

       • เปลือกทุเรียนมีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูง จึงมีการพัฒนาเป็นแผ่นแปะผิวหนังทดสอบในหนังหมู พบว่า มีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียและทำให้แผลหายเร็วขึ้น (http://bit.ly/2sM655E)

             ทุเรียนมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลดีไฮด์ดีไฮโดรจีเนส (aldehyde dehydrogenase) จึงไม่ควรรับประทานทุเรียนร่วมกับแอลกอฮอล์ เพราะจะส่งผลให้มีสารอัลดีไฮด์สะสมในร่างกาย ทำให้เกิดอาการหน้าแดง ชา วิงเวียน และ อาเจียน

             ผลการวิจัยในกลุ่มตัวอย่างเพศชายที่มีสุขภาพดี โดยให้บริโภคเนื้อทุเรียน 250 กรัม หรือ 500 กรัม พบว่า การกินทุเรียนไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ (http://bit.ly/2tPucFl)

             แต่คนที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดหัวใจตีบ ต้องจำกัดการบริโภคทุเรียน เพราะทุเรียนมีคาร์โบไฮเดรทสูง รวมทั้งผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้มีโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยโรคไตจะไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินได้เท่าคนปกติ จะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

             กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เตือนให้ระวังการกินทุเรียน ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดหัวใจตีบ แนะนำให้กินแต่พอดี โดยกินไม่เกิน 1 เม็ดเล็กต่อวัน และไม่ควรกินทุเรียนพร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

             ทุเรียนมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง ถ้าบริโภคอย่างพอดี

 

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์




ข่าวสารสุขภาพ อื่นๆ


อย่างไรคือ ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

30 สิงหาคม 2559
85

‘นมแม่’ พัฒนาสมองลูกอย่างไร?

28 พฤศจิกายน 2560
54

การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ พ.ศ.2559 สิ่งที่เราควรรู้

27 สิงหาคม 2561
55